วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วิธีการสร้างบุญบารมี

บุญ ความหมายของบุญ คือ เครื่องชำระสันดาน ความดี กุศล ความสุข ความประพฤติชอบทางกาย วาจา ใจ และกุศลธรรม
บารมี มาจากคำบาลีว่า “ปารมี” มีความหมายว่า “คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง” หรืออีกความหมายหนึ่งคือ “ความดีที่บำเพ็ญไว้, ข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงพระนิพพาน”

วิธีสร้างบุญบารมี หรือที่ตั้งแห่งการทำบุญในพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา นิยมเรียกกันว่า “ทาน ศีล ภาวนา” ซึ่งการให้ทานหรือทำทานนั้น เป็นการสร้างบุญที่เป็นเบื้องต้นที่สุด ได้บุญน้อยที่สุดในการทำบุญทั้ง 3 ขั้นนี้ซึ่งไม่ว่าจะสร้างบุญด้วยการให้ทานมากมายเพียงไร ก็ไม่มีทางที่จะได้บุญมากกว่าการรักษาศีลไปได้ และถึงจะถือศีลเข้มข้นเคร่งครัดอย่างไร ก็ไม่มีทางจะได้บุญมากเกินไปกว่าการเจริญภาวนาไปได้ ฉะนั้นการเจริญภาวนา จึงเป็นการสร้างบุญบารมีที่มีกำลังสูงที่สุด ได้บุญบารมีมากที่สุด
ทุกวันนี้เราส่วนใหญ่เน้นแต่การให้ทานอย่างเดียว เช่น ทำบุญตักบาตร ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า สละทรัพย์สร้างโบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ ส่วนการวิรัติรักษาศีล คือการถือศีลนั้น แม้จะได้บุญมากกว่า แต่ก็ยังมีส่วนน้อย ฉะนั้นเพื่อความเข้าใจอันดี จึงขอชี้แจงถึงวิธีการสร้างบุญบารมีว่าอย่างไรจึงจะลงทุนน้อย แต่ได้บุญบารมีมากที่สุด ดังต่อไปนี้
1.การทำทาน
การทำทาน ได้แก่การสละทรัพย์สินสิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ให้แก่บุคคลอื่น ดยมุ่งหวังจะจุนเจือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และความสุขด้วยความมีเมตตาจิตของตน ทานที่ได้ทำไปนั้น จะทำให้ผู้ทำทานได้บุญมากหรือน้อยเพียงใด ย่อมสุดแล้วแต่องค์ประกอบ 3 ประการ ถ้าประกอบหรือถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบทั้ง 3 ประการนี้แล้ว ทานนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญหนุนบารมีมาก กล่าวคือ
องค์ประกอบข้อ 1. “วัตถุทานที่ให้ ต้องบริสุทธิ์
วัตถุทานที่ให้ ได้แก่สิ่งของ ทรัพย์สินสมบัติ ที่ตนได้สละให้เป็นทานนั่นเอง จะต้องเป็นของบริสุทธิ์ ที่จะเป็นของบริสุทธิ์ได้จะต้องเป็นสิ่งของที่ตนได้แสวงหาได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ในการประกอบสัมมาอาชีพ ไม่ใช่ของที่ได้มาด้วยการเบียดเบียนผู้อื่น เช่น ได้มาโดยทุจริต ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ ฯลฯ
ตัวอย่าง 1 ได้มาโดยการเบียดเบียนเลือดเนื้อสัตว์ เช่น ฆ่าสัตว์ต่างๆ เป็นต้นว่า ปลา โค กระบือ สุกร โดยประสงค์จะนำเอาเลือดเนื้อของเขามาทำอาหารถวายพระ เพื่อเอาบุญ ย่อมเป็นการสร้างบาปเอามาก็ได้บุญน้อย จนถึงเกือบไม่ได้อะไรเลย ทั้งอาจจะได้บาปเสียอีก หากว่าทำทานด้วยจิตที่เศร้าหมอง
แต่การที่ได้เนื้อสัตว์มาโดยการซื้อหาจากผู้อื่นที่ฆ่าสัตว์นั้น โดยที่ตนมิได้มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจในการฆ่าสัตว์ก็ดี เนื้อสัตว์นั้นตายเองก็ดี เนื้อสัตว์นั้นย่อมเป็นวัตถุทานที่บริสุทธิ์ เมื่อนำมาทำทาน ย่อมได้ผลบุญมาก หากถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบข้ออื่นๆด้วย
ตัวอย่าง 2 ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ตลอดจนถึงการทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง อันเป็นการได้ทรัพย์มา ในลักษณะที่ไม่ชอบธรรม หรือโดยเจ้าของเดิมไม่เต็มใจให้ ทรัพย์นั้นย่อมเป็นของไม่บริสุทธิ์ ด้วยนำเอาไปกินไปใช้ย่อมเกิดโทษ เรียกว่า “บริโภคโดยความเป็นหนี้” แม้จะนำไปทำบุญให้ทาน สร้างโบสถ์วิหาร ก็แทบจะไม่ได้บุญแต่อย่างใด เนื่องด้วยต้องชดใช้หนี้กรรม อันเกิดแต่การเบียดเบียน ยักยอก ฉ้อโกง ปล้นชิงทรัพย์ อันได้มาโดยไม่ชอบธรรมเหล่านั้น
สมัยหนึ่งในรัชกาลที่ 5 มีหัวหน้าสำนักนางโลม ชื่อว่า “ยายแฟง” ได้เรียกเก็บเงินจากหญิงโสเภณีในสำนักของตน จากอัตราที่ได้มาครั้งหนึ่ง 25 สตางค์ แกจะชักเอาไว้ 5 สตางค์ สะสมเอาไว้เช่นนี้ จนได้ประมาณ 2,000 บาท แล้วจึงจัดสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง ด้วยเงินนั้นทั้งหมด เมื่อสร้างเสร็จแล้ว แกก็ปลื้มปิติ นำไปนมัสการถาม หลวงพ่อโต วัดระฆัง ว่าที่แกสร้างวัดทั้งวัดด้วยเงินของแกทั้งหมด จะได้บุญบารมีอย่างไร หลวงพ่อโต ตอบว่า ได้แค่ 1 สลึง แกเสียใจ เหตุที่ได้บุญน้อย ก็เพราะทรัพย์อันเป็นวัตถุทานที่ตนนำมาสร้างวัดเป็นวิหารทานนั้น เป็นของที่แสวงหาได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ เพราะเบียดเบียนมาจากเจ้าของที่ไม่เต็มใจจะให้
ฉะนั้น บรรดาพ่อค้าแม่ขาย ที่ซื้อของถูกๆแต่ขายแพงๆจนเกินส่วนที่ควรจะได้ ผลกำไรที่ได้มาเพราะความโลภจัดจนเกินส่วนนั้นย่อมเป็นสิ่งของที่ไม่บริสุทธิ์ โดยนัยเดียวกัน
วัตถุทานที่บริสุทธิ์ เพราะการแสวงหาได้มาโดยชอบธรรมดังกล่าวไม่ได้จำกัดว่าเป็นของมากหรือน้อย มีค่าน้อยหรือมีค่ามาก จะเป็นของดี เลว ประณีต มากหรือน้อยไม่สำคัญ ความสำคัญขึ้นอยู่กับเจตนาในการให้ทานนั้น ตามกำลังทรัพย์และกำลังศรัทธาที่ตนมีอยู่
องค์ประกอบ ข้อ 2 “เจตนาในการให้ทานต้องบริสุทธิ์”
การให้ทานนั้น โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริง ก็เพื่อเป็นการขจัด ความโลภ ความตะหนี่ เหนียวแน่น ความหวงแหนหลงใหลในทรัพย์สมบัติของตน อันเป็นกิเลสหยาบ คือ “โลภะกิเลส”
และขณะเดียวกัน ก็เพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขด้วยเมตตาธรรมของตน อันเป็นบันไดก้าวแรกในการเจริญเมตตาพรหมวิหาร ในพรหมวิหาร 4 ให้เกิดขึ้น ถ้าได้ให้ทานด้วยเจตนาดังกล่าวแล้ว เรียกว่า เจตนาในการทำทานบริสุทธิ์
แต่เจตนาที่ว่าบริสุทธิ์นั้น ถ้าจะบริสุทธิ์จริง จะต้องสมบูรณ์พร้อมด้วยกัน 3 ระยะ คือ
ระยะก่อนที่จะให้ทาน ก่อนที่จะให้ทาน ก็ต้องมีจิตโสมนัส ร่าเริง เบิกบาน ยินดีที่จะให้ทาน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุข เพราะทรัพย์สินสิ่งของของตน
ระยะที่กำลังลงมือให้ทาน ระยะที่กำลังลงมือทำทานอยู่นั้นเองก็ทำด้วยจิตโสมนัส ร่าเริงยินดี และเบิกบาน ในทานที่ตนกำลังให้ผู้อื่น
ระยะหลังจากที่ได้ให้ทานไปแล้ว ครั้นเมื่อได้ให้ทานไปแล้วเสร็จ หลังจากนั้นก็ดี นานมาก็ดี เมื่อหวนคิดถึงทานที่ตนได้กระทำไปแล้วครั้งใด ก็มีจิตโสมนัส ร่าเริงเบิกบาน ยินดีในทานนั้นๆ
เจตนาบริสุทธิ์ในการทำทานนั้น อยู่ที่การมีจิตโสมนัส ร่าเริงเบิกบาน ยินดีในทานที่ทำนั้นเป็นสำคัญ และเนื่องมาจากเมตตาจิต ที่มุ่งสงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นความทุกข์ และให้ได้รับความสุขเพราะทานของตนนับว่าเป็นเจตนาที่บริสุทธิ์ในเบื้องต้น
แต่เจตนาที่บริสุทธิ์เพราะเหตุดังกล่าวมาแล้วนี้ จะทำให้ยิ่งๆบริสุทธิ์มากขึ้นไปอีก หากผู้ให้ทานนั้น ได้ทำทานพร้อมกับมีวิปัสสนาปัญญา โดยใคร่ครวญถึงวัตถุทานที่ให้ทานนั้นว่า
“บรรดาทรัพย์สินสิ่งของทั้งปวง ที่ชาวโลกนิยมยกย่องหวงแหนเป็นสมบัติกันด้วยความโลภนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงแต่วัตถุธาตุ ที่มีอยู่ประจำโลก เป็นสมบัติกลาง ไม่ใช่ของผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ”
“วัตถุเหล่านั้น เป็นของที่มีมาตั้งแต่ก่อนเราเกิดขึ้นมา และไม่ว่าเราจะเกิดขึ้นมาหรือไม่ก็ตาม วัตถุธาตุดังกล่าวก็มีอยู่เช่นนั้น และได้ผ่านการเป็นเจ้าของโดยผู้อื่นมาแล้วหลายชั่วคน ซึ่งแต่ละท่านแต่ก่อนนั้นต่างก็ได้ล้มหายตายจากไปแล้วทั้งสิ้น ไม่สามารถจะนำติดตัวไปได้เลย”
ผลหรืออานิสงส์ของการทำทาน ที่ครบองค์ประกอบ 3 ประการนั้นย่อมส่งผลให้ได้ซึ่ง มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติเอง แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งเจตนาเอาไว้ล่วงหน้าก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้ เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากเหตุ เมื่อทำเหตุครบถ้วน ย่อมมีผลเกิดขึ้นตามมาเอง เช่นเดียวกับปลูกต้นมะม่วงเมื่อรดน้ำพรวนดิน และใส่ปุ๋ยไปตามธรรมดาเรื่อยไป แม้ว่าจะไม่อยากให้เจริญเติบโตและออกดอกออกผล ในที่สุดต้นไม้ก็ต้องเจริญและผลิดอกออกผลตามมา
สำหรับผลของทานนั้น หากน้อย หรือมีกำลังไม่มากนัก ย่อมน้อมนำให้ได้บังเกิดในมนุษย์ชาติ หากมีกำลังแรงมาก ก็อาจจะน้อมนำให้ได้บังเกิดในเทวโลก 6 ชั้น
เมื่อได้เสวยสมบัติในเทวโลกจนสิ้นบุญแล้ว ด้วยเศษของบุญที่ยังเหลืออยู่ ประกอบกับไม่มีอกุศลธรรมแทรกให้ผล ก็อาจน้อมนำให้มาบังเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง และเมื่อได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ย่อมทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวย มั่งคั่ง สมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์ หรือไม่ก็เป็นผู้ที่มีลาภผลมาก ทำมาหากินขึ้น และร่ำรวยในภายหลัง ทรัพย์สมบัติไม่วิบัติ หายนะไป เพราะวินาศภัย โจรภัย อัคคีภัย วาตภัย ฯลฯ แต่จะมั่งคั่งร่ำรวยในวัยใด ย่อมสุดแล้วแต่ผลทานแต่ชาติก่อนๆ จะส่งผล คือ
ร่ำรวยตั้งแต่วัยต้น เพราะผลของทานที่ได้ตั้งเจตนาไว้บริสุทธิ์ดีตั้งแต่ก่อนจะทำทาน คือก่อนที่จะลงมือทำทาน ก็มีจิตเมตตาโสมนัส ร่าเริงเบิกบานยินดีในทานที่ตนจะได้ทำเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น แล้วได้ลงมือทำทานไปตามเจตนานั้น เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ย่อมโชคดี โดยเกิดในตระกูลที่ร่ำรวย ชีวิตในวัยต้นอุดมสมบูรณ์พูนสุขไปด้วยทรัพย์ ไม่ยากจนแร้นแค้น ไม่ต้องขวนขวายหาเลี้ยงตนเองมาก
ร่ำรวยในวัยกลางคน การที่ร่ำรวยในวัยกลางคนนั้น สืบเนื่องมาจากผลของทานที่ได้ทำเพราะเจตนางามบริสุทธิ์ในระยะที่ 2 กล่าวคือไม่งามบริสุทธิ์ในระยะแรก เพราะก่อนที่จะลงมือทำทาน ก็มิได้มีจิตศรัทธามาก่อน ไม่คิดที่จะทำทานมาก่อน แต่ก็ได้ตัดสินใจทำทานไปเพราะเหตุผลบางอย่าง เช่นทำตามพวกพ้องอย่างเสียไม่ได้ แต่เมื่อได้ลงมือทำทานอยู่ ก็เกิดโสมนัสรื่นเริงยินดีในทานที่กำลังกระทำอยู่นั้น ด้วยผลทานชนิดนี้ ย่อมทำให้มาบังเกิดในตระกูลที่ยากจนคับแค้น ต้องต่อสู้สร้างตนเองมาในวัยต้น ครั้นเมื่อถึงวัยกลางคน กิจการหรือธุรกิจที่ทำก็ประสบความสำเร็จรุ่งเรือง และหากเจตนาในการทำทาน ได้งามบริสุทธ์ในระยะที่ 3 ด้วย กิจการหรือธุรกิจนั้นย่อมส่งผลรุ่งเรืองตลอดไปจนถึงบั้นปลายชีวิต หากเจตนาในการทำทาน ไม่บริสุทธิ์ในระยะที่ 3 แม้ธุรกิจหรือกิจการงานจะประสบความสำเร็จรุ่งเรืองในวัยกลางคน แต่ก็จะไปล้มเหลวหายนะในบั้นปลาย ทั้งนี้เพราะผลทานหมดกำลัง ส่งผลไม่ตลอดจนถึงบั้นปลายชีวิต
ร่ำรวยปัจฉิมวัย คือร่ำรวยในบั้นปลายชีวิตนั้น สืบเนื่องมาจากผลทานที่ผู้กระทำมีเจตนาไม่งามบริสุทธิ์ในระยะแรก และระยะที่ 2 แต่งามบริสุทธิ์เฉพาะในระยะที่ 3 กล่าวคือ ก่อนและในขณะที่ลงมือทำทานอยู่นั้น ก็มิได้มีจิตโสมนัสยินดีในการทำทานนั้นแต่อย่างใด แต่ได้ทำลงไปโดยบังเอิญ เช่น ทำตามพวกพ้องไปเสียไม่ได้
แต่เมื่อได้ทำไปแล้ว ต่อมาหวนคิดถึงผลทานนั้น ก็เกิดจิตโสมนัส ร่าเริงยินดีเบิกบาน หากผลทานชนิดนี้จะน้อมนำให้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเกิดในตระกูลที่ยากจนคับแค้น ต้องต่อสู้ดิ้นรนศึกษาเล่าเรียน และขวนขวาย สร้างตนเองมาก ตั้งแต่วัยต้น จนล่วงวัยกลางคนไปแล้ว กิจการงานหรือธุรกิจนั้น ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ต้องล้มลุกคลุกคลานตลอดมา แต่ครั้นถึงบั้นปลายชีวิตก็ประสบช่องทางเหมาะ ทำให้กิจการงานนั้นเจริญรุ่งเรือง ทำมาค้าขึ้นและร่ำรวยอย่างไม่คาดหมาย ซึ่งชีวิตจริงๆ ของคนประเภทนี้ ก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่มาก
องค์ประกอบข้อ 3 “เนื้อนาบุญต้องบริสุทธิ์”
คำว่า “เนื้อนาบุญ” ในที่นี้ ได้แก่บุคคลผู้รับการทำทาน ของผู้ทำทานนั่นเอง นับว่าเป็นองค์ประกอบข้อที่สำคัญที่สุด แม้ว่าองค์ประกอบในการทำทานข้อ 1 และ 2 จะงามบริสุทธิ์ครบถ้วนดีแล้วกล่าวคือ วัตถุที่ทำทานนั้นเป็นของที่แสวงหาได้มาด้วยความบริสุทธิ์เจตนาในการทำทานก็งามบริสุทธิ์พร้อมทั้งสามระยะ แต่ตัวผู้รับการทำทานเป็นคนที่ไม่ดี ไม่ใช่ผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญที่บริสุทธิ์ เป็นเนื้อนาบุญที่เลว ทานที่ทำไปนั้น ก็ไม่ผลิดอกออกผล
เปรียบเหมือนกับการหว่านเมล็ดข้าวเปลือกลงในพื้นนา 1 กำมือ แม้เมล็ดข้าวนั้นจะเป็นพันธุ์ดี ที่พร้อมจะงอกงาม (วัตถุทานบริสุทธิ์) และผู้หว่านคือกสิกร ก็มีเจตนาจะหว่านเพื่อทำนาให้เกิดผลิตผลเป็นอาชีพ (เจตนาบริสุทธิ์) แต่หากที่นานั้น เป็นที่ที่ไม่สม่ำเสมอกัน เมล็ดข้าวที่หว่านลงไป ก็งอกเงยไม่เสมอกัน โดยเมล็ดที่ไปตกในที่เป็นดินดี ปุ๋ยดี มีน้ำอุดมดี ก็งอกเงยมีผลิตผลที่สมบูรณ์ ส่วนเมล็ดที่ไปตกบนพื้นนาที่แห้งแล้ง มีแต่กรวดกับทรายและขาดน้ำ ก็จะแห้งเหี่ยว หรือเฉาตายไป หรือก็ไม่งอกเงยเสียเลย
การทำทานนั้น ผลิตผลที่ผู้ทำทานจะได้รับก็คือ “บุญ” หากผู้ที่รับการให้ทาน ไม่เป็นเนื้อนาบุญที่ดีสำหรับการทำบุญแล้ว ผลของทานคือบุญก็จะไม่เกิดขึ้น แม้จะเกิดก็ไม่สมบูรณ์ เพราะจะแกร็นหรือแห้งเหี่ยวเฉาไปด้วยประการต่างๆ
ฉะนั้น ในการทำทาน ตัวบุคคลผู้รับของที่เราให้ทาน จึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด เราผู้ทำทานจะได้บุญมากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับคนพวกนี้ คนที่รับการให้ทานนั้น หากเป็นผู้ที่มีศีลมีธรรมสูง ก็ย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่ดี ทานที่เราได้ทำไปแล้วก็เกิดผลบุญมาก หากผู้รับการให้ทาน เป็นผู้ที่ไม่มีศีลไม่มีธรรม ผลของทานก็ไม่เกิดขึ้น คือได้บุญน้อย ฉะนั้น คติโบราณที่กล่าวว่า “ทำบุญอย่าถามพระ หรือตักบาตรรอย่าเลือกพระ” เห็นจะใช้ไม่ได้ในสมัยนี้ เพราะพระในสมัยนี้ไม่เหมือนกับสมัยก่อนๆ ที่บวชเพราะมุ่งหนีสงสาร โดยมุ่งจะทำมรรค ผลและพระนิพพานให้แจ้ง ท่านจึงเป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ แต่ในสมัยนี้มีอยู่บางคน ที่บวชด้วยคติ 4 ประการ คือ “บวชเป็นประเพณี บวชหนีทหาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน”
การบวชที่แท้จริงแล้ว ก็เพื่อจะละความโกรธ โลภ และหลง ปัญหาว่า ทำอย่างไรจึงจะได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ ข้อนี้ย่อมขึ้นอยู่กับวาสนาของเราผู้ทำทานเป็นสำคัญ หากเราได้เคยสร้างสมอบรม สร้างบารมีมาด้วยดีในอดีตชาติเป็นอันมากแล้ว บารมีนั้นก็จะเป็นพลังวาสนา น้อมนำให้ได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ ทำทานครั้งใด ก็มักโชคดีได้พบกับท่านที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไปเสียทุกครั้ง
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสเอาไว้ว่า แม้วัตถุทานจะบริสุทธิ์ดี เจตนาในการทำทานจะบริสุทธิ์ดี จะทำให้ทานนั้นมีผลมากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญเป็นลำดับต่อไปนี้ คือ

1. ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่มนุษย์ แม้จะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศีลไม่มีธรรมเลยก็ตาม ทั้งนี้เพราะสัตว์ย่อมมีบุญวาสนาบารมีน้อยกว่ามนุษย์ และสัตว์ไม่ใช่เนื้อนาบุญที่ดี

2. ให้ทานแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีลไม่มีธรรมวินัย แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล 5 แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม

3. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล 5 แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล 8 แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม

4. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล 8 แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่ผู้มีศีล 10 คือสามเณรในพุทธศาสนาแม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

5. ถวายทานแก่สามเณรซึ่งมีศีล 10 แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระสมมุติสงฆ์ ซึ่งมีปาติโมกข์สังวร 227 ข้อ
พระด้วยกัน ก็มีคุณธรรมแตกต่างกัน จึงเป็นเนื้อนาบุญที่ต่างกัน บุคคลที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา มีศีลปาติโมกข์สังวร 227 ข้อนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสเรียกว่าเป็นพระ แต่เป็นเพียงพระสมมุติเท่านั้น เรียกกันว่า “สมมุติสงฆ์”
พระที่แท้จริงนั้นหมายถึง บุคคลที่บรรลุคุณธรรม ตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันเป็นต้นไป ไม่ว่าท่านผู้นั้นจะได้บวชหรือเป็นฆราวาสก็ตามนับว่าเป็น “พระ” ทั้งสิ้น
และพระด้วยกันก็มีคุณธรรมต่างกันหลายระดับชั้น จากน้อยไปหามากดังนี้ คือ พระโสดาบัน พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

6. ถวายทานแก่พระสมมุติสงฆ์ แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม (ความจริงยังมีการแยกเป็น พระโสดาปัตติมรรคและพระโสดาปัตติผล ฯลฯ เป็นลำดับไปจนถึงพระอรหันตผล แต่ในที่นี้จะกล่าวแต่เพียงย่นย่อ พอให้ได้ความเท่านั้น)

7. ถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระสกิทาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

8. ถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอนาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม

9. ถวายทานแก่พระอนาคามี แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอรหันต์ แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

10. ถวายทานแก่พระอรหันต์ แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

11. ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

12. ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะได้ถวายสังฆทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

13. การถวายทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายวิหารทาน แม้จะได้กระทำแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
วิหารทาน ได้แก่ การสร้างหรือร่วมสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาโรงธรรม ศาลาท่าน้ำ ศาลาที่พักอาศัยคนเดินทางอันเป็นสาธารณประโยชน์ ที่ประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อนึ่งการสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ หรือสิ่งที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้จะไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจในพุทธศาสนา เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน บ่อน้ำ แท็งก์น้ำ ศาลา ป้ายรถยนต์โดยสารประจำทาง สุสาน เมรุเผาศพ ก็ได้บุญมากในทำนองเดียวกัน


14. การถวายวิหารทาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง (100 หลัง) ก็ยังได้บุญน้อยกว่า การให้ “อภัยทาน” แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้อภัยทาน ก็คือการไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่นแม้แต่ศัตรู ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน เพราะการให้อภัยทาน เป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อละ “โทสะกิเลส” และเป็นการเจริญ “เมตตาพรหมวิหารธรรม” อันเป็นพรหมวิหารข้อหนึ่งในพรหมวิหาร 4 ให้เกิดขึ้น อันพรหมวิหาร 4 นั้น เป็นคุณธรรมที่เป็นองค์ธรรมของโยคีบุคคล ที่บำเพ็ญฌานและวิปัสสนา ผู้ที่ทรงพรหมวิหาร 4 ได้ ย่อมเป็นผู้ทรงญาณ ซึ่งเมื่อเมตตาพรหมวิหารธรรมได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อใด ก็ย่อมละเสียได้ซึ่ง “พยาบาท” ผู้นั้นจึงจะสามารถให้อภัยทานได้ การให้อภัยทาน จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและยากเย็น จึงจัดเป็นทานที่สูงกว่าการให้ทานอื่นๆดังที่กล่าวมาแล้ว


15. แต่การให้ทานที่ได้บุญมากที่สุด ได้แก่การให้ “ธรรมทาน” เพราะการให้ธรรมทาน ก็คือการเทศนาสั่งสอนธรรมะ ตลอดถึงการพิมพ์หนังสือธรรมะแจกเป็นธรรมทาน เพื่อช่วยให้ผู้อื่นที่ยังไม่รู้ ได้รู้ หรือที่รู้อยู่แล้ว ให้ได้รู้ได้เข้าใจมากยิ่งๆขึ้น เป็นเหตุให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิ ได้กลับใจเป็นสัมมาทิฐิ ชักจูงผู้คนให้เข้ามารักษาศีล ปฏิบัติธรรม จนเข้าถึง มรรค ผล นิพพาน ในที่สุด ดังมีพุทธดำรัสตรัสไว้ว่า
“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง
อย่างไรก็ดี การให้ธรรมทาน แม้จะมากเพียงใด แม้จะชนะการให้ทานอื่นๆ ทั้งมวล ผลบุญนั้นก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า “ฝ่ายศีล” เพราะเป็นการทำบุญบารมีคนละขั้นต่างกัน

การรักษาศีล
“ศีล” นั้นแปลว่า “ปกติ” คือสิ่งหรือกติกาที่บุคคลจะต้องระวังรักษาตามเพศและฐานะ ศีลนั้นมีหลายระดับ คือ ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 และศีล 227 และในบรรดาศีลชนิดเดียวกัน ก็ยังจัดแยกออกเป็น ระดับธรรมดา มัชฌิมศีล (ศีลระดับกลาง) และอธิศีล (ศีลอย่างสูง ศีลอย่างอุกฤษฏ์)
คำว่า “มนุษย์” นั้น คือผู้ที่มีใจอันประเสริฐ คุณธรรมที่เป็นปกติของมนุษย์ ที่จะต้องทรงไว้ให้ได้ตลอดไป ก็คือ ศีล 5 บุคคลที่ไม่มีศีล 5 ไม่เรียกว่ามนุษย์ แต่อาจจะเรียกว่า “คน” ซึ่งแปลว่า “ยุ่ง” ในสมัยพุทธกาล ผู้คนมักจะมีศีล 5 ประจำใจกันเป็นนิจ ศีล 5 จึงเป็นเรื่องปกติของบุคคลในสมัยนั้น และจัดว่าเป็น “มนุษยธรรม” ส่วนหนึ่งในมนุษยธรรม 10 ประการ
ผู้ที่จะมีวาสนาได้เกิดมาเป็นมนุษย์ จะต้องถึงพร้อมด้วยมนุษยธรรม 10 ประการเป็นปกติ (ซึ่งรวมถึงศีล 5 ด้วย) รายละเอียดจะมีประการใด จะไม่กล่าวถึงในที่นี้
การรักษาศีล เป็นการเพียรพยายามเพื่อระงับโทษทางกายและวาจา อันเป็นเพียงกิเลสหยาบ มิให้กำเริบขึ้น และเป็นการบำเพ็ญบุญบารมี ที่สูงขึ้นกว่าการให้ทาน ทั้งในการถือศีลด้วยกันเอง ก็ยังได้บุญมากและน้อยต่างกันไปตามลำดับต่อไปนี้ คือ

การให้ธรรมทาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล 5 แม้จะถือแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
การถือศีล 5 แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล 8 แม้จะถือแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
การถือศีล 8 แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล 10 คือการบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะบวชได้แต่เพียงวันเดียวก็ตาม
การที่ได้บวชเป็นสามเณรในพุทธศาสนา แล้วรักษาศีล 10 ไม่ให้ขาด ไม่ด่างพร้อย แม้จะนานถึง 100 ปี ก็ยังได้บุญน้อยกว่า ผู้ที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพุทธศาสนา มีศีลปาติโมกข์สังวร 227 แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม
ฉะนั้น ในฝ่ายศีลแล้ว การที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพุทธศาสนาได้บุญบารมีมากที่สุด เพราะเป็น เนกขัมมบารมี ในบารมี 10 ซึ่งเป็นการออกจากกาม เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติธรรมขั้นสูงๆ ก็คือการภาวนา เพื่อมรรค ผล นิพพาน ต่อๆไป ผลของการรักษาศีลนั้นมีมาก ซึ่งจะยังประโยชน์สุขให้แก่คนผู้นั้นทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เมื่อได้ละอัตภาพนี้ไปแล้ว ย่อมส่งผลให้ได้บังเกิดในเทวโลก 6 ชั้น ซึ่งแล้วแต่ความละเอียดประณีตของศีลที่รักษาและบำเพ็ญมา
ครั้นเมื่อสิ้นบุญในเทวโลกแล้ว ด้วยเศษของบุญที่ยังหลงเหลืออยู่แต่เพียงเล็กๆน้อยๆ หากไม่มีอกุศลกรรมอื่นมาให้ผล ก็อาจจะน้อมนำให้ได้บังเกิดเป็นมนุษย์ ที่ถึงพร้อมด้วยสมบัติ 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ ความสุข และพลัง
อานิสงส์ของการรักษาศีล 5 คือ
ผู้ที่รักษาศีลข้อ 1 ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อน้อมนำมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะทำให้มีพลานามัยแข็งแรง ปราศจากโรคภัย ไม่ขี้โรค อายุยืนยาว ไม่มีศัตรูหรืออุบัติเหตุต่างๆมาเบียดเบียนให้ได้รับบาดเจ็บ หรือสิ้นอายุเสียก่อนวัยอันสมควร
ผู้ที่รักษาศีลข้อ 2 ด้วยการไม่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่เจ้าของมิได้เต็มใจให้ ด้วยเศษของบุญที่นำมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวย การทำมาหาเลี้ยงชีพในภายหน้า มักจะประสบช่องทางที่ดีทำมาค้าขึ้น และมั่งมีทรัพย์ ทรัพย์สมบัติไม่วิบัติหายนะไปด้วยภัยต่างๆ เช่น อัคคีภัย วาตภัย โจรภัย ฯลฯ
ผู้ที่รักษาศีลข้อ 3 ด้วยการไม่ล่วงประเวณีในคู่ครอง หรือคนในปกครองของผู้อื่น ด้วยเศษของบุญที่รักษาข้อนี้ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะประสบโชคดีในความรัก มักได้พบรักแท้ที่จริงจังและจริงใจไม่ต้องอกหัก อกโรย และอกเดาะ ครั้นเมื่อมีบุตรธิดา ก็ว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อด้าน ไม่ถูกผู้อื่นหลอกลวงฉุดคร่าอนาจาร ไปทำให้เสียหาย บุตรธิดา ย่อมเป็นอภิชาตบุตร ซึ่งจะนำเกียรติยศชื่อเสียงมาสู่วงศ์ตระกูล
ผู้ที่รักษาศีลข้อ 4 ด้วยการไม่กล่าวมุสา ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ จะทำให้เป็นผู้ที่มีสุ้มเสียงไพเราะพูดจามีน้ำมีนวลชวนฟัง มีเหตุมีผล ชนิดที่เป็น “พุทธวาจา” มีโวหารปฏิภาณไหวพริบในการเจรจา จะเจรจาความสิ่งใดก็มีผู้เชื่อฟังและเชื่อถือสามารถว่ากล่าวสั่งสอนบุตรธิดาและศิษย์ให้อยู่ในโอวาทได้ดี
ผู้ที่รักษาศีลข้อ 5 ด้วยการไม่ดื่มสุราเมรัย เครื่องหมักดองของมึนเมา ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้เป็นผู้ที่มีสมอง ประสาท ปัญญา ความคิดแจ่มใส จะศึกษาเล่าเรียนสิ่งใดก็แตกฉานและทรงจำง่าย ไม่หลงลืมฟั่นเฟือนเลอะเลือน ไม่เสียสติ วิกลจริต ไม่เป็นโรคสมอง โรคประสาท ไม่ปัญญาทราม ปัญญาอ่อน หรือปัญญานิ่ม
อานิสงส์ ของศีล 5 มีดังกล่าวข้างต้น สำหรับศีล 8 ศีล 10 และศีล 227 ก็ย่อมมีอานิสงส์เพิ่มพูนมากยิ่งๆขึ้นตามลำดับและประเภทของศีลที่รักษา
แต่ศีลนั้น แม้จะมีอานิสงส์เพียงไร ก็ยังเป็นเพียงการบำเพ็ญบุญบารมีในชั้นกลางๆ ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะเป็นแต่เพียงระเบียบหรือกติกาที่จะรักษากายและวาจาเท่านั้น ส่วนจิตใจนั้นศีลยังไม่สามารถที่จะควบคุม หรือทำให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ ฉะนั้น การรักษาศีลจึงยังได้บุญน้อยกว่าการภาวนา
เพราะการภาวนานั้นเป็นการรักษาจิต รักษาใจ และซักฟอกจิตให้เบาบาง หรือจนหมดกิเลส คือความโลภ โกรธ และหลง อันเป็นเครื่องร้อยรัดให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ต้องเวียนวายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏการภาวนาจึงเป็นการบำเพ็ญบารมีที่สูงที่สุด ประเสริฐที่สุด ได้บุญบารมีมากที่สุด เป็นกรรมอันยิ่งใหญ่ เรียกว่า “มหัคคตกรรม” อันเป็น ”มหัคคตกุศล

3.การภาวนา
การเจริญภาวนานั้น เป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุด และยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นแก่นแท้ และสูงกว่าฝ่ายศีลมากนัก การเจริญภาวนานั้น มี 2 อย่าง คือ 1 สมถภาวนา (การทำสมาธิ) และ 2 วิปัสสนาภาวนา (การเจริญปัญญา) แยกอธิบายดังนี้คือ

1. สมถภาวนา (การทำสมาธิ)
สมถภาวนา ได้แก่การทำจิตให้เป็นสมาธิ หรือเป็นฌาน ซึ่งก็คือการทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านแส่ส่ายไปยังอารมณ์อื่นๆ วิธีภาวนานั้นมีมากมายหลายร้อยชนิด ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติเป็นแบบอย่างเอาไว้ 40 ประการ เรียกกันว่า “กรรมฐาน 40“ซึ่งผู้ใดจะเลือกใช้วิธีใดก็ได้ ตามแต่สมัครใจ ทั้งนี้ย่อมสุดแล้วแต่อุปนิสัยและวาสนาบารมี ที่เคยได้สร้างสมอบรมมาแต่ในอดีตชาติ เมื่อสร้างสมอบรมมาในกรรมฐานกองใด จิตก็มักจะน้อมชอบกรรมฐานกองนั้นมากกว่ากองอื่นๆและการเจริญภาวนาก็ก้าวหน้าเร็วและง่าย แต่ไม่ว่าจะเลือกปฏิบัติวิธีใดก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาศีลให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ตามเพศของตนเสียก่อน คือหากเป็นฆราวาส ก็จะต้องรักษาศีล 5 เป็นอย่างน้อยหากเป็นสามเณร ก็จะต้องรักษาศีล 10 หากเป็นพระ ก็จะต้องรักษาศีลปาติโมกข์ 227 ข้อให้บริบูรณ์ ไม่ให้ขาดและด่างพร้อย จึงจะสามารถทำจิตให้เป็นฌานได้
หากศีลยังไม่มั่นคง ย่อมเจริญฌานให้เกิดขึ้นได้โดยยาก เพราะศีลย่อมเป็นบาทฐาน(เป็นกำลัง) ให้เกิดสมาธิขึ้น
อานิสงส์ของสมาธินั้น มากกว่าการรักษาศีลอย่างเทียบกันไม่ได้ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “แม้ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ รักษาศีล 227 ข้อ ไม่เคยขาด ไม่ด่างพร้อยมานานถึง 100 ปี ก็ยังได้บุญกุศลน้อยกว่า ผู้ที่ทำสมาธิเพียงให้จิตสงบ นานเพียงชั่วไก่กระพือปีก ช้างกระดิกหู” คำว่า”จิตสงบ” ในที่นี้ หมายถึงจิตที่เป็นอารมณ์เดียวเพียงชั่ววูบ ที่พระท่านเรียกว่า”ขณิกสมาธิ” คือสมาธิเล็กๆน้อยๆ สมาธิแบบเด็กๆ ที่เพิ่งหัดตั้งไข่ คือหัดยืนแล้วก็ล้มลง แล้วก็ลุกขึ้นยืนใหม่ ซึ่งเป็นอารมณ์จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น สงบวูบลงเล็กน้อย แล้วก็รักษาไว้ได้ ซึ่งยังห่างไกลต่อการที่จิตถึงขั้นเป็นอุปจารสมาธิแลฌาน
แม้กระนั้นก็ยังมีอานิสงส์มากมายถึงเพียงนี้ โดยหากผู้ใด จิตทรงอารมณ์อยู่ในขั้น ขณิกสมาธิ แล้วบังเอิญตายลงในขณะนั้น อานิสงส์นี้จะส่งผลให้ไปบังเกิดในเทวโลกชั้นที่ 1 คือชั้น จาตุมหาราชิกา หากจิตยึดไตรสรณคมน์ มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอันสูงสุดด้วยก็เป็นเทวดาชั้นที่ 2 คือ ดาวดึงส์
สมาธินั้นมีหลายขั้นตอน ระยะก่อนที่จะเป็นฌาน (อัปปนาสมาธิ) ก็คือขณิกสมาธิ และอุปจารสมาธิ ซึ่งอานิสงส์ส่งให้ไปบังเกิดในเทวโลก 6 ชั้น แต่ยังไม่ถึงชั้นพรหมโลก สมาธิในระดับ อัปปนาสมาธิ หรือฌานนั้น มีรูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4 ซึ่งล้วนแต่ส่งผลให้ไปเกิดในพรหมโลก รวม 20 ชั้น แต่จะเป็นชั้นใด ย่อมสุดแล้วแต่ความละเอียดประณีต ของกำลังฌานที่ได้ (เว้นแต่พรหมโลกชั้นสุทธาวาส คือชั้นที่ 12 ถึง 16 ซึ่งเป็นที่เกิดของพระอนาคามีมีบุคคลโดยเฉพาะ) เช่น รูปฌาน 1 ส่งผลให้บังเกิดในพรหมโลกชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 13 สุดแล้วแต่ความละเอียดประณีตของกำลังฌาน 1 เป็นต้น
ส่วนอรูปฌานชั้นสูงสุด ที่รียกว่า “เนวสัญญานาสัญญายตนะ”นั้น ส่งผลให้บังเกิดใน พรหมโลกชั้นสูงสุด คือชั้นที่ 20 ซึ่งมีอายุยืนยาวถึง 84,000 มหากัป เรียกกันว่า นิพพานพรหม คือนานเสียจนเกือบหาเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดมิได้ จนเป็นที่หลงผิดเข้าใจผิดกันว่าเป็นนิพพาน
การทำสมาธิ เป็นการสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ลงทุนน้อยที่สุดเพราะไม่ได้เสียเงินเสียทอง ไม่ได้เหนื่อยยากต้องแบกหามแต่อย่างใดเพียงแต่คอยเพียรระวังรักษาสติ คุ้มครองจิตมิให้แส่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่นๆโดยให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น การทำทานเสียอีก ยังต้องเสียเงินเสียทอง การสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาโรงธรรม ยังต้องเสียทรัพย์ และบางทีก็ต้องเข้าช่วยแบกหามเหนื่อยกาย แต่ก็ได้บุญน้อยกว่าการทำสมาธิอย่างที่เทียบกันไม่ได้
อย่างไรก็ดี การเจริญสมถภาวนา หรือสมาธินั้น แม้จะได้บุญอานิสงส์มากมายมหาศาลอย่างไร ก็ยังไม่ใช่บุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบกับต้นไม้ ก็เป็นเพียงเนื้อไม้เท่านั้น การเจริญวิปัสสนา (การเจริญปัญญา) จึงจะเป็นการสร้างบุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบ ก็เป็นแก่นไม้โดยแท้

2.วิปัสสนาภาวนา (การเจริญปัญญา)
เมื่อจิตของผู้บำเพ็ญตั้งมั่นในสมาธิ จนมีกำลังดีแล้ว เช่น อยู่ในระดับฌานต่างๆ ซึ่งจะเป็นฌานระดับใดก็ได้ แม้แต่จะอยู่แค่เพียงอุปจารสมาธิ จิตของผู้บำเพ็ญเพียรก็ย่อมมีกำลัง และอยู่ในสภาพที่นิ่มนวลควรแก่การเจริญวิปัสสนาต่อไปได้
อารมณ์ของวิปัสสนานั้น แตกต่างไปจากอารมณ์ของสมาธิ เพราะสมาธินั้น มุ่งให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์หนึ่งแต่เพียงอารมณ์เดียว โดยแน่นิ่งอยู่เช่นนั้น ไม่นึกไม่คิดอะไรๆ
แต่ วิปัสสนา ไม่ใช่การให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวอยู่เช่นนั้น แต่เป็นจิตที่คิดใคร่ครวญ หาเหตุและผล ในสภาวธรรมทั้งหลาย และสิ่งที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียวก็คือ “ขันธ์ 5 ”ซึ่งนิยมเรียกกันว่า “รูป-นาม” โดยรูป มี 1 ส่วน นามนั้น มี 4 คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
ขันธ์ 5 ดังกล่าว เป็นเพียงอุปาทานขันธ์ เพราะแท้จริงแล้วก็เป็นแต่เพียงสังขารธรรม ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง แต่เพราะอวิชชา คือ ความไม่รู้เท่าทันสภาวธรรม จึงทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น ด้วยอำนาจอุปาทานว่า เป็นตัวเป็นตนและของตน การเจริญวิปัสสนา ก็โดยมีจิตพิจารณา จนรู้แจ้งเห็นจริงว่า สภาวธรรมทั้งหลาย อันได้แก่ขันธ์ 5 นั้นล้วนมีอาการเป็นไตรลักษณ์ คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา โดย...

1. อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง คือสรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของ สมบัติ เพชร หิน ดิน ทราย และรูปกายของเรา ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อมีเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาเพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ไม่อาจจะให้ตั้งมั่นทรงอยู่ในสภาพเดิมได้ เช่น คน และสัตว์ เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้ว ก็มีการเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาวและแก่เฒ่า จนตายไปในที่สุด ไม่มีเว้นไปได้ทุกผู้คน แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย พรหม และเทวดา ฯลฯ
สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ที่เรียกว่า อุปาทาน-ขันธ์ 5 เช่น รูปกาย ล้วนแต่เป็นแร่ธาตุต่างๆมาประชุมรวมกัน เป็นหน่วยเล็กๆ ของชีวิตขึ้นก่อน ซึ่งเล็กจนตาเปล่ามองไม่เห็น เรียกกันว่า”เซลล์”แล้วบรรดาเซลล์เหล่านั้น ก็มาประชุมรวมกัน เป็นรูปร่างของคนและสัตว์ขึ้น ซึ่งหน่วยชีวิตเล็กๆ เหล่านั้นก็มีการเจริญเติบโต และแตกสลายไป แล้วเกิดของใหม่ขึ้นมาแทนที่อยู่ตลอดเวลา ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้แน่นอน

2. ทุกขัง ได้แก่ “สภาพที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้” ทุกขัง ในที่นี้มิได้หมายความแต่เพียงว่า เป็นความทุกข์กายทุกข์ใจเท่านั้น แต่การทุกข์กายทุกข์ใจ ก็เป็นลักษณะส่วนหนึ่งของ ทุกขัง ในที่นี้ สรรพสิ่งทั้งหลายอันเป็นสังขารธรรม เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่อาจที่จะทรงตัวตั้งมั่นทนทานอยู่ในสภาพนั้นๆได้ตลอดไป แต่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่จะช้าจะเร็วเท่านั้น เมื่อได้เกิดมาเป็นเด็ก จะให้ทรงสภาพเป็นเด็กๆ เช่นนั้นตลอดไปหาได้ไม่ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นหนุ่มและสาว แล้วก็แก่เฒ่าจนในที่สุดก็ต้องตายไป แม้แต่ขันธ์ที่เป็นนามธรรม อันได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ไม่มีสภาพทรงตัว เช่น ขันธ์ที่เรียกว่า เวทนา อันได้แก่ความสุขกาย สุขใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ และไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งเมื่อมีอารมณ์อย่างใดดังกล่าวเกิดขึ้น แล้วจะให้ทรงอารมณ์เช่นนั้นตลอดไปย่อมเป็นไปไม่ได้ นานไป อารมณ์เช่นนั้น หรือเวทนาเช่นนั้น ก็ค่อยๆจางไป แล้วเกิดอารมณ์ใหม่ชนิดอื่นขึ้นมาแทน

3. อนัตตา ได้แก่”ความไม่ใช่ตัวไม่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ” โดยสรรพสิ่งทั้งหลาย อันเนื่องมาจากการปรุงแต่งไม่ว่าจะเป็น “รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ” ล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เช่น รูปขันธ์ ย่อมประกอบขึ้นด้วยแร่ธาตุต่างๆ มาประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นหน่วยชีวิตเล็กๆขึ้นก่อน เรียกในทางวิทยาศาสตร์ว่า “เซลล์” แล้วเซลล์เหล่านั้นก็ประชุมรวมกันเป็นรูปใหม่ขึ้นจนเป็นรูปกายของคนและสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งพระท่านรวมเรียกหยาบๆว่าเป็นธาตุ 4 มาประชุมรวมกัน โดยส่วนที่เป็นของแข็ง มีความหนักแน่น เช่น เนื้อ กระดูก ฯลฯ เรียกว่า ธาตุดิน ส่วนที่เป็นของเหลว เช่น น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำดี น้ำปัสสาวะ น้ำไขข้อ น้ำมูก ฯลฯ รวมเรียกว่า ธาตุน้ำ ส่วนสิ่งที่ให้พลังงาน และอุณหภูมิในร่างกาย เช่น ความร้อน ความเย็น เรียกว่า ธาตุไฟ
ส่วนธรรมชาติที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ความตั้งมั่น ความเคร่ง ความตึง และบรรดาสิ่งเคลื่อนไหวไปมาในร่างกาย เรียกว่า ธาตุลม (โดยธาตุ 4 ดังกล่าวนี้ มิได้มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “ธาตุ” อันหมายถึงแร่ธาตุในทางวิทยาศาสตร์) ธาตุ 4 หยาบๆ เหล่านี้ ได้มาประชุมรวมกันขึ้น เป็นรูปกายของคน สัตว์ และสรรพสิ่งทั้งหลาย เพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อนานไปย่อมเปลี่ยนแปลง แล้วแตกสลาย กลับคืนไปสู่สภาพเดิม โดยส่วนที่เป็นดิน ก็กลับไปสู่ดิน ส่วนที่เป็นน้ำ ก็กลับไปสู่น้ำ ส่วนที่เป็นไฟ ก็กลับไปสู่ไฟ ส่วนที่เป็นลม ก็กลับไปสู่ความเป็นลม ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของคนและสัตว์ที่ไหนแต่อย่างใด จึงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นรูปกายนี้ว่า เป็นตัวเราของเรา ให้เป็นที่พึ่งอันถาวรได้
สมาธิ ย่อมมีกรรมฐาน 40 เป็นอารมณ์ ซึ่งผู้บำเพ็ญอาจจะใช้กรรมฐานบทใดบทหนึ่ง ตามแต่ที่ถูกแก่จริตนิสัยของตน ก็ย่อมได้
ส่วนวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียว คือมีขันธ์ 5 เป็นอารมณ์ เรียกสั้นๆว่า มีแต่รูปกับนามเท่านั้น ขันธ์ 5 นั้นได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรม หรือสังขารธรรม อันเกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ได้ และไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแต่อย่างใด อารมณ์ของวิปัสสนานั้น เป็นอารมณ์จิตที่ใคร่ครวญหาเหตุผล ในสังขารธรรมทั้งหลาย จนรู้แจ้ง เห็นจริงว่า เป็นพระไตรลักษณ์ คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา และเมื่อใดที่จิตยอมรับสภาพความเป็นจริงว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่าจิตเข้าสู่กระแสธรรม ตัดกิเลสได้
ปัญญาที่จะเห็นสภาพความเป็นจริงดังกล่าว ไม่ใช่แต่เพียงปัญญาที่นึกคิดและคาดหมายเอาเท่านั้น แต่ย่อมมีตาวิเศษ หรือตาในอย่างที่พระท่านเรียกว่า “ญาณทัสสนะ” เห็นเป็นเช่นนั้นจริงๆ
ซึ่งจิตที่ได้ผ่านการอบรมสมาธิ จนมีกำลังดีแล้ว ย่อมมีพลังให้เกิดญาณทัสสนะ หรือปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวได้ เรียกกันว่า “สมาธิอบรมปัญญา” คือสมาธิ ทำให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น และเมื่อวิปัสสนาญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมถ่ายถอนกิเลสให้เบาบางลง จิตย่อมจะก้าวหน้าและตั้งมั่นมากยิ่งๆขึ้นไปอีก เรียกกันว่าเป็น “ปัญญาอบรมสมาธิ” ฉะนั้น ทั้ง สมาธิและวิปัสสนา จึงเป็นทั้งเหตุและผลของกันและกันและอุปการะซึ่งกันและกัน จะมีวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้น โดยขาดกำลังสมาธิสนับสนุนมิได้เลย อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องใช้กำลังของขณิกสมาธิเป็นบาทฐานในระยะแรกเริ่ม สมาธิจึงเปรียบเหมือนกับหินลับมีดส่วนวิปัสสนานั้น เหมือนกับมีดที่ได้ลับกับหินคมดีแล้ว ย่อมมีอำนาจถากถางตัดฟัน บรรดากิเลสทั้งหลาย ให้ขาดและพังลงได้
อันสังขารธรรมทั้งหลายนั้น ล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวเราของเราแต่อย่างใดทุกสรรพสิ่งล้วนแล้วเป็นแค่ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมรวมกันชั่วคราวตามเหตุและปัจจัยเท่านั้น ในเมื่อจิตได้เห็นความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว จิตก็จะคลายจากอุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่น โดยคลายกำหนัดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทั้งหลาย ความโลภ ความโกรธ และความหลง ก็จะเบาบางลงไปตามลำดับปัญญาญาณ จนหมดสิ้นจากกิเลสทั้งมวล บรรลุซึ่งพระอรหันตผล
ฉะนั้น การที่จะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามทำสมาธิให้ได้เสียก่อน หากทำสมาธิยังไม่ได้ (อย่างน้อยที่สุดจะต้องได้ขณิกสมาธิ) ก็ไม่มีทางที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้นสมาธิจึงเป็นเพียงบันไดขั้นต้น ที่จะก้าวไปสู่การเจริญวิปัสสนาปัญญาเท่านั้น ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “ผู้ใดแม้จะทำสมาธิ จนจิตเป็นฌานได้นานถึง 100 ปี และไม่เสื่อม ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่มองเห็นความเป็นจริงที่ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ล้วนแล้วแต่ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวก็ตาม”
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า วิปัสสนาภาวนา นั้นเป็นสุดยอดของการสร้างบุญบารมีโดยแท้จริง และการกระทำก็ไม่ได้เหนื่อยยากลำบาก ไม่ต้องแบกหาม ไม่ต้องลงทุนหรือเสียทรัพย์แต่อย่างใด แต่ก็ได้กำไรมากที่สุด
เมื่อเปรียบการให้ทานเช่นกับกรวดและทราย ก็เปรียบวิปัสสนาได้กับเพชรน้ำเอก ซึ่งทาน ย่อมไม่มีทางที่จะเทียบกับศีล ศีล ก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับสมาธิ และสมาธิก็ไม่มีทางเทียบกับวิปัสสนา
แต่ตราบใดที่เราท่านทั้งหลาย ยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็ต้องเก็บเล็กผสมน้อย โดยทำทุกๆทาง เพื่อความไม่ประมาท โดยทำทั้งทาน ศีล และภาวนา สุดแต่โอกาสจะอำนวยให้
จะถือว่าการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้นลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้กำไรมากที่สุด ก็เลยทำแต่วิปัสสนาอย่างเดียว โดยไม่ยอมลงทุนทำบุญให้ทานใดๆ ไว้เลย เมื่อเกิดชาติหน้า เพราะเหตุที่ยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็เลยมีแต่ปัญญาอย่างเดียว ไม่มีจะกินจะใช้ ก็เห็นจะเจริญวิปัสสนาให้ถึงฝั่งพระนิพพานไปไม่ได้เหมือนกัน
อนึ่ง พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ว่า “ผู้ใดมีปัญญา พิจารณาจนจิตเห็นความจริงว่า ร่างกายนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน คน สัตว์ แม้จะนานเพียงชั่วช้างยกหูกระดิก ก็ยังดีเสียกว่า ผู้ที่มีอายุยืนยาวถึง 100 ปี แต่ไม่มีปัญญาเห็นความจริงดังกล่าว” กล่าวคือแม้ว่าอายุของผู้นั้นจะยืนยาวมานานเพียงใด ก็ย่อมโมฆะเสียเปล่าไปอีกชาติหนึ่ง จัดว่าเป็น “โมฆะบุรุษ” คือบุรุษผู้สูญเปล่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น